กระบี่ กับ โรงไฟฟ้าถ่านหิน

จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับแก้ไขล่าสุด (PDP 2010 Revision 3) มีแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 4,400 เมกะวัตต์ และหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายคือ จังหวัดกระบี่ โดยมีความก้าวหน้าในระดับการทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และการสร้างการยอมรับให้กับประชาชนในพื้นที่

ที่ผ่านมานั้นจังหวัดกระบี่เคยเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ขนาดกำลังผลิตรวม 60 เมกะวัตต์และถูกปลดออกจากระบบเมื่อกันยายน 2538 หลังจากมีการใช้งานมา 31 ปี ในปีถัดมาโรงไฟฟ้าเดิมแห่งนี้ถูกเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเตาขนาด 340 เมกะวัตต์ และหากพิจารณาตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าล่าสุด พื้นที่แห่งนี้กำลังจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 800 เมกะวัตต์โดยจะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ในขณะที่ปัญหาผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าที่เดิมมีอยู่นั้นก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนในพื้นที่อำเภอเหนือคลองเจ้าของพื้นที่หลักที่คลุกอยู่กับปัญหาโรงไฟฟ้ามากว่า 30 ปีได้มีการเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีโรงไฟฟ้าปล่อยควันและน้ำฝนมีกลิ่นเหม็นเมื่อฝนตก

กระบี่ กับ โรงไฟฟ้าถ่านหิน

เหตุผลหลักของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่จังหวัดกระบี่ตามรายงานของกระทรวงพลังงาน คือเพื่อรองรับกับสภาพในปัจจุบันของจังหวัดกระบี่ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากทำให้ความต้องการด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เมื่อปีที่ผ่านมาจังหวัดกระบี่ใช้ไฟฟ้าอยู่ในลำดับที่ 7 จากทั้ง 14 จังหวัดของภาคใต้ โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 107 เมกะวัตต์ต่อปี

โครงการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อจังหวัดกระบี่ตั้งแต่การขนส่งถ่านหิน ท่าเรือถ่านหิน การเผาไหม้ถ่านหินและการกำจัดเถ้าถ่านหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ตำบลคลองขนาน ตำบลปกาสัย ตำบลตลิ่งชันและตำบลเกาะศรีบอยา หากพิจารณาจากข้อมูลงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและมหาวิทยาลัยทักษิณ พบว่าเมื่อปีพ.ศ.2552 จังหวัดกระบี่มีการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึงร้อยละ 90 ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ภายในจังหวัดกระบี่ทั้งหมด อีกทั้งจังหวัดกระบี่มีศักยภาพพลังงานหมุนเวียนที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 2,177 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงในปีดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล แสงอาทิตย์และลมซึ่งมีศักยภาพมากถึงเกือบ 4 เท่าของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในจังหวัดกระบี่

กระบี่ กับ โรงไฟฟ้าถ่านหิน

นอกจากการขาดการนำเสนอศักยภาพพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ให้ประชาชนทราบแล้ว ประเด็นการจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงพลังงานและสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะต้องมิใช่การนำมาใช้ประเมินผลกระทบในระดับโครงการอย่างที่กำลังดำเนินการอยู่ แต่กระบวนการนี้จะต้องมีการจัดทำในระดับการวางแผนนโยบายพลังงานของประเทศเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในด้านความมั่นคงพลังงานต้องมองครอบคลุมถึงศักยภาพด้านพลังงานอื่นในพื้นที่ การก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานจากพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาเศรษฐกิจ ความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศ ความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางสังคมที่จะต้องให้ความสำคัญกับชุมชนและวิถีชีวิตที่จะได้รับผลกระทบ

อีกทั้งเมื่อพิจารณารายละเอียดของการประเมินผลกระทบดังกล่าว การจัดทำข้อมูลด้านศักยภาพพลังงานทดแทนกลับไม่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการดังกล่าว อีกทั้งการนำกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินในระยะรัศมีเพียง 5 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าซึ่งรัฐนำมาใช้ในการจ่ายเงินชดเชยกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน

แต่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้จะทำให้ประชาชนอย่างน้อย 26,000 คนจากประมาณ 7,500 ครัวเรือนในสี่ตำบลได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างแน่นอน อีกทั้งการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวไม่มีทางที่จะครอบคลุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในวงกว้างจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่จะถูกทำลายและมลพิษที่จะเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมถ่านหิน

ที่มา greenpeace.org